การแยกส่วนประกอบและการย่อยปัญหา (Decomposition)


ที่มาภาพ : https://sites.google.com/a/spk.ac.th/teacher_coputer/_/rsrc/1612707721360/bth-thi-2-kar-yaek-swn-prakxb-laea-kar-ha-rup-baeb/1.png

การแยกส่วนประกอบเป็นวิธีคิดรูปแบบหนึ่งของแนวคิดเชิงคำนวณ เป็นการพิจารณาเพื่อแบ่งปัญหาหรืองานออกเป็นส่วนย่อย ทำให้สามารถจัดการกับปัญหาหรืองานได้ง่ายขึ้น 

เพื่ออธิบายแนวคิดนี้ ให้นักเรียนพิจารณารูปจักรยาน ประกอบด้วย ล้อ แฮนด์ โครงจักรยาน ระบบขับเคลื่อน หรืออื่น ๆ ถ้ามองในรายละเอียดของล้อจักรยานจะเห็นว่าประกอบด้วย ยางล้อ วงล้อ และซี่ลวด หรือถ้าพิจารณาชุดขับเคลื่อนก็จะพบว่าประกอบด้วยเฟือง โซ่ และบันได

การแบ่งส่วนประกอบของวัตถุนั้น สามารถพิจารณาให้ละเอียดย่อยลงไปได้อีกหลายระดับ แต่ไม่ควรแยกย่อยรายละเอียดให้มากเกินความจำเป็น ทั้งนี้ให้ขึ้นอยู่กับบริบทที่สนใจ 

การแยกส่วนประกอบอาจเป็นขั้นตอนแรกของการพัฒนานวัตกรรม เนื่องจากทำให้เห็นหน้าที่การทำงานของแต่ละส่วนประกอบย่อยอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาส่วนประกอบย่อยต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างเป็นอิสระต่อกันแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่นได้ เช่น จากการแยกส่วนจักรยาน นักเรียนอาจแยกระบบขับเคลื่อนไปใช้ในการปั่นไฟเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้

การแยกส่วนประกอบนั้นไม่ได้ทำเฉพาะกับวัตถุหรือสิ่งของเท่านั้น แต่ยังสามารถทำได้กับกระบวนการและขั้นตอนวิธีด้วย ซึ่งมนุษย์ใช้ทักษะนี้ตลอดเวลาจนแทบไม่ได้สังเกต เช่น ในการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน อาจจะแบ่งขั้นตอนการเดินทางด้วยรถประจำทางเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้
1. เดินทางออกจากบ้านไปยังรถประจำทาง
2. เดินทางด้วยรถประจำทางจนถึงบริเวณโรงเรียน
3. เดินทางจากรถประจำทางไปยังโรงเรียน
ในแต่ละขั้นตอนย่อยก็อาจจะแบ่งเป็นขั้นตอนที่ละเอียดลงไปได้อีก

ให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติม (หนังสือเรียน หน้า 13-15)

ใหม่กว่า เก่ากว่า